เลือกหน้า

ทำผนังบ้านด้วยแผ่นเมทัลชีท ดีไหม มีประเภทไหนบ้าง?

ผนังเมทัลชีท ดีไหม มีประเภทไหนบ้าง

เมทัลชีทเป็นวัสดุที่ทำงานด้วยง่ายและมีความสวยงามจบในตัวจึงถูกนำมาใช้ในวงกว้าง การพัฒนาคุณสมบัติของแผ่นเมทัลชีทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันขอบเขตการใช้งานแผ่นเมทัลชีทไม่ได้เป็นเพียงแผ่นวัสดุมุงหลังคา แต่ถูกนำมาใช้ในหลายๆ ส่วนของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึง ‘ผนัง’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของบ้าน ทั้งในรูปแบบของผนังบ้านเมทัลชีทล้วนๆ และผนังเมทัลชีทที่อยู่ร่วมกับผนังประเภทอื่นๆ

คุณสมบัติของเมทัลชีท

เมทัลชีทคือแผ่นโลหะรีดขึ้นลอน โดยเมทัลชีทคุณภาพสูงในปัจจุบันที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำมาใช้ทำผนังจะใช้โลหะเคลือบผิวประเภทอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี ที่ช่วยให้ทนต่อการกัดกร่อน ลดการเกิดสนิม ทำให้แผ่นเมทัลชีทมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น การติดตั้งแผ่นเมทัลชีทใช้วิธีเดียวกับผนังเบา คือตีโครงคร่าวแล้วยึดแผ่นด้วยสกรู เลือกติดแผ่นตามแนวตั้งหรือขวางแนวลอนก็ได้ และยังสามารถดัดเพื่อติดตั้งไปตามแนวผนังโค้งได้ด้วย

 

ผนังเมทัลชีท บลูสโคป แซคส์

 

เมทัลชีทใช้งานร่วมกับผนังบ้านชนิดใดได้บ้าง

การออกแบบบ้านยุคนี้มีวัสดุก่อสร้างมากมายให้เลือก ความสวยงามและการตอบโจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการทำให้มีความเป็นไปได้ทางการออกแบบที่ไม่จำกัด การใช้เมทัลชีทติดผนังบ้าน มีความเรียบง่าย ความเป็นโลหะสมัยใหม่ และเส้นสายแนวลอนของแผ่นเมทัลชีท เมื่ออยู่ร่วมกับผนังปูน ผนังไม้ หรือแผ่นวัสดุสำเร็จรูปอื่นๆ ล้วนให้อารมณ์และบรรยากาศของบ้านที่น่าสนใจต่างกันไป เป็นเสน่ห์อีกอย่างของแผ่นเมทัลชีทที่สามารถใช้งานร่วมกับผนังแทบทุกชนิดได้อย่างไม่ขัดเขิน ในการใช้งานมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการเลือกวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งร่วมกับผนังแต่ละประเภท

 

ผนังเมทัลชีท และรูปแบบการติดตั้ง

 

ผนังเมทัลชีทแบบแซนวิช

ผนังแซนวิช คือแผ่นเมทัลชีทที่มีการสอดใส้ฉนวนข้างใน โดยมีรูปแบบคือ ประกับด้วยแผ่นเมทัลชีททั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนใส้ในคือ ฉนวน ซึ่งฉนวนก็มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งานและความต้องการของลูกค้า ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันจะเป็น PU โฟมหรือ EPS โฟมที่กันทั้งความร้อนและเสียงได้ดี การใช้งานผนังแซนวิช มักนิยมใช้งานเดี่ยวๆ โดยไม่ต้องอาศัยการก่ออิฐฉาบปูน สามารถทำเป็นผนังสำเร็จรูป ได้เลย ซึ่งทั้ง 2 ด้านอาจจะมีรูปลอนที่แตกต่างกัน เช่น ด้านหน้า เป็นลอนผนัง ด้านหลังเป็นเมทัลชีทแผ่นเรียบ เป็นต้น ด้วยแผ่นวัสดุที่เป็นโลหะทั้งสองด้าน กันความร้อนและเก็บความเย็นได้ดี มีการเคลือบผิวที่ช่วยให้ทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมสิ่งสกปรก จึงเหมาะนำมาใช้กับห้องที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น ห้องเย็น ห้องทดลอง หรือห้องปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นจุดเด่นของวัสดุที่ต่างจากวัสดุผนังอื่นๆ

 

เมทัลชีทแผ่นเรียบ แบบแซนวิช

 

การใช้ผนังเมทัลชีทร่วมกับผนังปูนหรือผนังก่อฉาบ

งานผนังก่อฉาบนั้นถือเป็นงานก่อสร้างในระบบเปียกที่มีความเลอะเทอะ ต่างกับงานเมทัลชีทซึ่งเป็นผนังเบาที่ทำงานในระบบแห้ง ก่อนทำผนังเมทัลชีทควรมีการวางแผนการทำงานและจัดการส่วนของผนังก่อฉาบให้เรียบร้อยก่อนทำการติดตั้งแผ่นเมทัลชีท หรือมีการแบ่งส่วนการทำงานเพื่อลดปัญหาเรื่องความสกปรกและความชื้น

สำหรับบางกรณีที่เป็นการทำผนังปูนเป็นหลัก ใช้เมทัลชีทตกแต่งเฉพาะบางส่วน ในกรณีนี้อาจใช้วิธีตีโครงในส่วนของผนังเมทัลชีทไว้ก่อน เมื่อทำผนังปูนเสร็จแล้วจึงทำโครงคร่าวแล้วนำแผ่นเมทัลชีทมาตีปิด

 

ผนังเมทัลชีท ผนังปูนหรือผนังก่อฉาบ

 

การใช้ผนังเมทัลชีทร่วมกับผนังเบา

ผนังเบานั้นใช้วิธีการก่อสร้างระบบเดียวกับเมทัลชีท การทำงานจึงไม่ยุ่งยาก เพียงวางโครงคร่าวให้ได้ระยะที่เหมาะสมและแข็งแรงเพียงพอ ก็สามารถติดผนังบ้านกับเมทัลชีทได้ รายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของความต้องการในการควบคุมอุณหภูมิและการกันเสียงของห้องซึ่งจะมีผลต่อการเลือกติดตั้งฉนวน ซึ่งฉนวนบางชนิดสามารถสั่งแบบติดมากับแผ่นเมทัลชีทได้ หรือบางชนิดติดภายหลังจากติดตั้งแผ่นเมทัลชีทแล้ว โดยฉนวนจะอยู่ระหว่างแผ่นเมทัลชีทกับแผ่นผนังเบาที่อยู่อีกด้านหนึ่ง แต่หากผนังนั้นสร้างเพื่อกั้นห้องหรือตกแต่งพื้นที่ภายในบ้านเท่านั้น ก็สามารถตัดการใส่ฉนวนออกไปเพื่อความประหยัดได้

 

เมทัลชีทผนังบ้าน ร่วมกับผนังเบา

 

การใช้ผนังเมทัลชีทเพื่อการตกแต่งหรือซ่อมแซมผนังเดิม

การใช้เมทัลชีทติดผนังบ้านนั้นมีความง่ายในการติดตั้ง น้ำหนักไม่มาก ทนทาน และไม่ต้องมีการทำสีเพิ่มภายหลังทำให้เมทัลชีทเป็นอีกตัวเลือกที่มักถูกนำมาใช้ในการตกแต่งหรือซ่อมแซมผนังเดิมที่ผุพังหรือไม่สวยงาม

ในกรณีที่ต้องติดผนังเมทัลชีทกับผนังก่ออิฐฉาบปูน สามารถยึดแผ่นเมทัลชีทปิดทับผนังเดิมได้เลยเนื่องจากผนังประเภทนี้มีความแข็งแรงและสามารถรับน้ำหนักแผ่นเมทัลชีทได้ แต่วิธีที่แนะนำควรตีโครงคร่าวสำหรับยึดแผ่นก่อนเพื่อช่วยให้ได้ระดับและความแข็งแรง

ส่วนกรณีที่ติดผนังเมทัลชีทกับผนังเดิมเป็นแผ่นผนังเบา ให้ทำการรื้อแผ่นผนังเดิมออกก่อน แล้วสำรวจโครงคร่าวเดิมว่าอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ไหม หากไม่ได้มีการผุพัง กร่อน หรือเป็นสนิมมากเกินไป ก็สามารถยึดแผ่นเมทัลชีทปิดทับได้

 

ผนังบ้านเมทัลชีท และการซ่อมแซมผนังเดิม

 

ข้อดี – ข้อเสีย ของผนังเมทัลชีท

ข้อดีของผนังเมทัลชีท นั้นค่อนข้างเห็นได้ชัดในเรื่องของความเร็วและความง่ายในการทำงาน เมื่อติดตั้งแล้วก็จบงานได้เลยเพราะไม่ต้องมีการตกแต่งผิวหรือเก็บสีเพิ่มเหมือนผนังประเภทอื่นๆ ประหยัดโครงสร้างเนื่องจากน้ำหนักไม่มาก เมื่อนำไปใช้ต่อเติมหรือซ่อมแซมก็ติดตั้งบนผนังเดิมได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องโครงสร้างรับน้ำหนัก ความแข็งแรงทนทานของวัสดุค่อนข้างสูงลดปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงระยะยาว และหากต้องการปรับเปลี่ยนหรือย้ายผนังก็สามารถรื้อไปใช้ใหม่ได้เพราะติดตั้งด้วยการยึดสกรูบนโครงคร่าวเท่านั้น

ข้อเสียของผนังเมทัลชีท แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของการนำความร้อนเนื่องจากวัสดุเป็นโลหะ การติดฉนวนกันความร้อนและการเลือกใช้แผ่นเมทัลชีทที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่น มีสารเคลือบสะท้อนความร้อน ก็เป็นตัวช่วยป้องกันและดูดซับความร้อนก่อนที่จะผ่านเข้าสู่ภายในบ้าน ซึ่งวิธีการติดตั้งก็ไม่ได้ยุ่งยากและมีการใช้กันทั่วไป

 

ผนังเมทัลชีท และข้อดี ข้อเสีย

 

เมทัลชีทเป็นวัสดุที่มีข้อดีค่อนข้างมากและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ตัววัสดุที่เป็นโลหะแม้จะนำความร้อนแต่ก็มีคุณสมบัติคายความร้อนได้ดี ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิภายนอกลดลง หรือเป็นช่วงที่ไม่มีแดดร้อนๆ ผนังเมทัลชีทก็จะเย็นไปด้วย ส่วนการเลือกใช้นั้นแนะนำว่าความคุ้มค่าอยู่ที่เหตุผลในการใช้งานและความพอใจ ตัวอย่างเช่น ผนังเมทัลชีทภายนอกควรใช้แบบผนังแซนวิช แต่ถ้าเป็นผนังภายในก็ลดค่าใช้จ่ายเป็นผนังเบาอื่นๆ แทนได้ หรือผนังภายในบางพื้นที่อาจไม่จำเป็นต้องติดฉนวน ส่วนเรื่องความพอใจนั้นเป็นเรื่องความสวยงามและคอนเซปต์การออกแบบบ้านที่ต้องการ เจ้าของบ้านอาจมองว่าบ้านเราทำครั้งเดียว บางส่วนที่ต้องการจริงๆ หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างแต่ตรงกับที่ต้องการ ก็ควรทำเพื่อจะได้ไม่รู้สึกเสียดายหรือต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมภายหลัง แต่หากงบประมาณจำกัดก็อาจจะต้องปรับแบบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นต้น