เลือกหน้า

วิธีเลือกแผ่นหลังคาเมทัลชีท (Metal Sheet) ให้เหมาะสม

แบบบ้านโครงสร้างเหล็ก หรือคอนกรีต เลือกแบบไหนดี

การสร้างบ้านหรือการปรับปรุงต่อเติมบ้านในแต่ละหลัง นอกจากจะออกแบบเพื่อเอาใจผู้อยู่อาศัยแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้วัสดุที่ดีและมีคุณภาพ โดยเฉพาะวัสดุมุงหลังคาที่นอกจากจะกันแดดกันฝนได้แล้ว จะต้องสามารถควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านไม่ให้ร้อนเหมือนภายนอกบ้านด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างความคุ้มค่าคุ้มราคาให้กับเจ้าของบ้านได้ ประหยัดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว

Metal sheet คืออะไร ทำความเข้าใจกับเมทัลชีท

Metal Sheet เกิดจากภาษาอังกฤษ 2 คำมารวมกัน คำแรกคือ Metal ที่มีความหมายว่าโลหะ ส่วน Sheet มีความหมายว่า แผ่น เมื่อนำสองคำมาร่วมกันเป็น Metal Sheet จึงเกิดความหมายใหม่ว่า แผ่นโลหะ ซึ่งจะมีลักษณะเรียบแบน และเคลือบด้วยสารป้องกันสนิมหรือเคลือบสี ก่อนที่จะนำไปรีดลอนหรือขึ้นรูป

หลังคาเมทัลชีทต้องเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี

หลังคาเมทัลชีทที่เคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียมบนแผ่นหลังคาเหล็ก หรือเมทัลชีท เป็นการเคลือบสารที่ประกอบไปด้วยอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยเมทัลชีทที่มีคุณภาพ จะต้องเป็นการเคลือบสารทั้ง 2 ด้านของแผ่นเมทัลชีท เพื่อช่วยในการป้องกันการกัดกร่อนของสนิมและช่วยยืดอายุการใช้งานให้นาน โดยแผ่น หลังคาเหล็ก หรือเมทัลชีทที่มีคุณภาพ จะต้องเลือกเมทัลชีทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. และได้มาตรฐานระดับโลก เพราะการผลิตตามมาตรฐานดังกล่าว เป็นการการันตีว่าเมทัลชีท ได้รับการทดสอบว่าสารเคลือบได้คุณภาพ

แผ่นเมทัลชีทเคลือบสี

สีของเมทัลชีทจะมีให้เลือกใช้งานหลากหลายสี ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล แต่ในการเลือก หลังคาเมทัลชีท เคลือบสีนั้นควรเลือกสีที่สามารถสะท้อนความร้อนและทนทานต่อรังสียูวีได้ด้วย นอกจากนี้แผ่นเมทัลชีทที่ดีควรได้รับการเคลือบผิวด้วยสารป้องกันสนิมที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี ก่อนที่จะเคลือบสีและผ่านการทดสอบการยึดเกาะของสีด้วยวิธีในการตรวจสอบที่ได้รับมาตรฐานจาก มอก. หรือ AS ที่เป็นมาตรฐานสากลจากประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

การขึ้นรูป 2 ชนิดของเมทัลชีท

แม้ในท้องตลาดจะมีแผ่น เมทัลชีท ให้เลือกใช้มากมาย หลายรูปแบบทั้งลอน 3 สันลอน, ลอน 4 สันลอน, ลอน 5 สันลอน, ลอนฝ้า ฯลฯ แต่การนำมาใช้งานจริงนั้นมีมาตรฐานในการติดตั้งด้วยกัน 2 แบบ คือ

  1. Bolt System หรือ ระบบยิงสกรู ซึ่งเป็นวิธีการติดตั้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะติดตั้งง่าย เพียงใช้สกรูยิงยึด หลังคาเมทัลชีท กับโครงสร้างหลังคาหรือแป เช่น เมทัลชีท รูปลอนมาตรฐาน 760 หรือเมทัลชีทที่มีความกว้าง 760 มม. มี 5 สันลอน ความสูงของลอน 24 มม.
  2. Boltless System หรือ ระบบไม่ใช้สกรู มีวิธีในการติดตั้งด้วยการใช้ขายึดเข้ากับแผ่นเมทัลชีท การใช้งานจึงเป็นรูปแบบเฉพาะ เช่น เมทัลชีทรูปลอนคลิปล็อก เป็นต้น ข้อดีของเมทัลชีทแบบไม่ใช้สกรูนี้คือสามารถช่วยลดการรั่วซึมได้ดีกว่าระบบยิงสกรู รวมไปถึงการออกแบบรูปลอนที่สามารถรับการระบายน้ำได้ดีกว่า จึงทำให้สามารถวาง slope หลังคาได้น้อยกว่า และรีดแผ่นได้ขนาดที่ยาวกว่า เมื่อเทียบกับลอนระบบยิงสกรู

ศัพท์ที่ควรรู้เกี่ยวกับ Metal Sheet

เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับอักษรย่อหรือสัญลักษณ์บนเมทัลชีทคืออะไร เวลาที่ไปเลือกซื้อเมทัลชีทมาใช้งานจะได้เลือกซื้อได้ถูกต้องตามความเหมาะสมหรือตามความต้องการ เนื่องจากชนิด ความหนาของแผ่น การเคลือบและวัสดุของเมทัลชีทแต่ละแบบนั้น จะมีราคาที่แตกต่างกัน

  • BMT หมายถึง ความหนาของแผ่นเมทัลชีทก่อนทำการเคลือบสารใด ๆ
  • TCT คือ ความหนาของแผ่นเมทัลชีทที่มีการรวมสารเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี
  • APT คือ ความหนาของแผ่นเมทัลชีทที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี และเคลือบสี
  • ชั้นคุณภาพ หรือ เกรดเหล็ก คือ ค่าความแข็งแรงของเหล็ก ซึ่งได้มาจากการทดสอบ Tensile strength โดยจะระบุเป็นค่าความเค้นคราก หรือ Yield strength ที่ได้ โดยในการบอกเกรดเหล็กนั้นสามารถอ้างอิงตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น หากเป็นมาตรฐาน มอก. จะระบุ ชั้นคุณภาพ 550 หมายถึง วัสดุมีค่าความเค้นครากต่ำสุดที่ 550 MPa หากอ้างอิงตามมาตรฐานออสเตรเลีย จะมีการระบุเป็น G550 หมายถึง วัสดุมีค่าความเค้นครากต่ำสุดที่ 550 MPa โดยยิ่งมีค่าตัวเลขที่มาก ยิ่งมีความแข็งแรงที่มากเช่นกัน
  • มวลสารเคลือบ หมายถึง ปริมาณมวลสารเคลือบบนแผ่นเหล็กทั้ง 2 ด้านในหน่วยกรัมต่อตารางเมตร (g/sqm) เช่น AZ150 หมายถึง มีมวลสารเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี รวมกันทั้ง 2 ด้านต่ำสุดที่ 150 กรัมต่อตารางเมตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆเช่น Z หมายถึงการเคลือบด้วยสังกะสี ตัวอย่างเช่น Z100 หมายถึง มีมวลสารเคลือบสังกะสีรวมกันทั้ง 2 ด้านต่ำสุดที่ 100 กรัมต่อตารางเมตร
  • JIS คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น
  • AS คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ของประเทศออสเตรเลีย
  • ASTM คือ มาตรฐานของทางสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา
  • TIS คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ของประเทศไทย

5 วิธีการเลือกหลังคา Metal Sheetให้เหมาะสมกับการใช้งาน

หลักในการเลือกแผ่น เมทัลชีท คือ เพื่อนำไปใช้ในงานต่าง ๆ นอกจากจะดูที่สีสันและความสวยงาม จะต้องเลือกรูปแบบ ความหนาและวิธีการติดตั้งให้เหมาะสมกับงานนั้น สามารถพิจารณาได้ดังนี้

1. เลือกลอนให้เหมาะกับงาน

เนื่องจากแผ่นเมทัลชีทมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งลอนสูง ลอนเตี้ย ลอนเล็ก ลอนใหญ่ เพราะคุณสมบัติของแต่ละลอนจะมีความแตกต่างกัน เช่น ลอนสูง จะมีความสามารถในการระบายน้ำได้ดีกว่าลอนเตี้ย หากบ้านอยู่ในเขตพื้นที่ฝนตกชุกควรเลือกลอนสูง ซึ่งถ้าหากเลือกลอนเล็ก นอกจากจะระบายน้ำไม่ทันแล้ว อาจทำให้เกิดการรั่วซึมจนมีน้ำไหลผ่านเข้าไปในตัวบ้านได้

2. เลือกคุณภาพของการเคลือบ อะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี

จากการเกริ่นไปก่อนหน้าเกี่ยวกับสัญลักษณ์ อะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี หรือ AZ หากต้องการให้หลังคามีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทนการกัดกร่อนและเป็นสนิมได้ดี ควรเลือกตัวเลขด้านหลัง AZ ให้มาก ก็จะเท่ากับมีการเคลือบสูง อายุการใช้งานก็สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีมวลสารเคลือบที่สูงมาก จะส่งผลต่อราคาที่สูงขึ้น จึงควรเลือกให้เหมาะสมต่อการใช้งานและงบประมาณที่วางไว้

3. ความหนาของแผ่นเมทัลชีท

ควรเลือกความหนาและลักษณะของลอนให้เข้ากับระยะห่างของแปเป็นสำคัญ โดยปกติแล้วการเลือกแผ่นเมทัลชีทเพื่อมุงหลังคาบ้านและต่อเติมจะใช้ความหนาประมาณ 0.30-0.35 มม. หลังคาโรงงานอาจใช้ความหนาตั้งแต่ 0.35-0.47 มม. เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวอาคารและระยะของแป ซึ่งจะต้องตรวจสอบกับแบบติดตั้งเสียก่อน เพื่อที่จะเลือกใช้ความหนาได้อย่างเหมาะสม เพราะความหนามีผลต่อความแข็งแรงและราคาเป็นสำคัญ ยิ่งมีความหนามาก ราคาเมทัลชีทก็จะสูงตามขึ้นไปด้วย

4. รูปแบบการติดตั้ง

การติดตั้งเมทัลชีทมีข้อควรพิจารณาอยู่ 3 ประการ ได้แก่

รูปลอนของเมทัลชีท รวมถึงขนาดของแผ่นเมทัลชีท มีผลต่อการติดตั้งเมทัลชีท จำนวนสกรูที่จะต้องใช้ รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างที่รองรับด้วย เนื่องจากบางรูปลอนนั้น ต้องการระยะแปที่ถี่ขึ้น หรือ ต้องการจุดยิงยึดสกรูที่ต่างออกไปจากรูปลอนปรกติทั่วไป

โครงสร้างของเมทัลชีท ก่อนการติดตั้งแผ่นเมทัลชีท ควรทำการตรวจสอบโครงสร้าง ให้มั่นใจว่า โครงสร้างไม่บิดเบี้ยว ระยะการวางแปเท่ากัน และไม่แอ่น หรือ ตกท้องช้าง ซึ่งจะนำไปสู่การรั่วซึม หรือ ทำให้แผ่นเมทัลชีท เสียหาย ได้ในภายหลัง

ช่างติดตั้ง ควรผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรการติดตั้งหลังคาเมทัลชีท ที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ศูนย์เมทัลชีท บลูสโคป

5. มีมาตรฐานการรองรับ

หากเป็นไปได้ควรเลือกซื้อแผ่นเมทัลชีทที่ได้รับการรับรองจาก มอก. เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าให้ดีควรได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากต่างประเทศด้วย เพราะจะได้แน่ใจว่าทุกแผ่นได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองการผลิตว่าได้มาตรฐาน มีความหนาตามที่ระบุไว้จริง

 

ข้อดีหลังคาเมทัลชีท (Metal Sheet)

  1. น้ำหนักเบา ทำให้ตัวบ้านไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ลดค่าใช้จ่ายในการตอกเสาเข็ม
    เนื่องจากแผ่นเมทัลชีทมีน้ำหนักเบาทำให้การต่อเติมหลังคาลานจอดรถ ไม่ต้องตอกเสาเข็มเพิ่มหรือหากตอกเข็มก็จะใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้
  2. ติดตั้งง่าย ลดเวลาในการทำงาน
  3. ออกแบบได้หลากหลาย และเข้ากับวัสดุหลายประเภท
  4. ป้องกันการรั่วซึมได้ดี เนื่องจากสามารถรีดยาวได้ลดรอยต่อของแผ่นได้
  5. มีสีสันให้เลือกหลายเฉดสี

ข้อเสียหลังคาเมทัลชีท (Metal Sheet)

  1. มีขนาดและราคาที่ค่อนข้างหลากหลาย รวมไปถึงมีรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ง่ายทำให้เกิดการสับสนต่อการเลือกใช้งาน จึงควรเลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีการรับประกันคุณภาพ
  2. ด้วยขนาดที่ค่อนข้างบางของแผ่นเมทัลชีท ทำให้คุณสมบัติในการป้องกันเสียงไม่ดี เมื่อเทียบกับแผ่นกระเบื้อง แต่หากติดตั้งร่วมกับฉนวนกันความร้อนจะสามารถลดเสียงที่ลอดผ่านได้ นอกจากนี้ยังควบคุมอุณหภูมิและช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ดียิ่งขึ้น
  3. การระบายน้ำขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ความสูงของลอนและความลาดชันของหลังคา หากเลือกผิดอาจเป็นข้อเสียได้ แนะนำให้ปรึกษาทางผู้ออกแบบเพื่อประเมินงาน
  4. ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้งเท่านั้น เนื่องจากแผ่นเมทัลชีทมีความบางเพียง 0.3-0.4 มิลลิเมตรเท่านั้น หากติดตั้งโดยช่างที่ไม่มีความชำนาญ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นเมทัลชีทได้
  5. เนื่องจากแผ่นเมทัลชีทมีน้ำหนักเบา หากติดตั้งโดยช่างที่ไม่ชำนาญ เมื่อเกิดพายุลมแรงอาจทำให้เกิดความเสียหายจากการโดนพายุพัดได้

สำหรับท่านที่กำลังจะสร้างบ้านหรือต่อเติมทำหลังคาที่จอดรถ ด้วยวัสดุที่สามารถกันความร้อนและรังสียูวีได้ดี มีความโปร่งโล่งสบายของตัวบ้านและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แผ่นมุงหลังคาเมทัลชีท สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณได้อย่างแน่นอน